วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

สภาพภูมิประเทศของภูพระบาทมีลักษณะเป็นโขดหินและเพิงผาที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ๆ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูนซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นานๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหิน และเพิงผารูปร่างแปลกๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน 


 
ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว วิถีชีวิตของผู้คน ในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า และล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นมาพักค้างแรม อยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพต่างๆ เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่างๆไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัย ซึ่งปรากฏอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ถ้ำวัว - ถ้ำคน และภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ ซึ่งภาพเขียนสีบนผนังหินเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาให้ผู้คนในชั้นหลังค้นหาความหมายที่แท้จริงต่อไป           นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานทางวัฒนธรรมสมัยทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ อยู่ด้วย อาทิ การดัดแปลงโขดหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีคติการปักใบเสมาหินขนาดใหญ่ล้อมรอบเอาไว้ และลักษณะของพระพุทธปฏิมาบางองค์ที่ถ้ำพระ ก็แสดงถึงอิทธิพลศิลปกรรมสมัยทวารวดีอย่างเด่นชัด ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ อิทธิพลของศิลปกรรมแบบเขมรได้เข้ามามีบทบาทในบริเวณนี้ด้วย เนื่องจากได้พบการสกัดหินเพื่อดัดแปลงพระพุทธรูปที่บริเวณถ้ำพระให้เป็นรูปพระโพธิสัตว์ หรือเทวรูปในศาสนาฮินดู โดยได้สลักส่วนของผ้านุ่งด้วยลวดลายที่งดงามยิ่ง 
 
ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ พื้นที่แถบอีสานตอนบนเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะที่อยู่ติดกับลำน้ำโขง ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมลาวหรือล้านช้าง จากการศึกษาพบว่า มีร่องรอยของงานศิลปกรรมสกุลช่างลาวอยู่บนภูพระบาท ดังเห็นได้จากพระพุทธรูปขนาดเล็กบริเวณถ้ำพระเสี่ยง แสดงถึงศิลปะสกุลช่างลาว ส่วนสถาปัตยกรรมในสมัยนี้ได้แก่ เจดีย์ร้าง (อุปโมงค์) ที่สันนิษฐานว่า เดิมอาจใช้สำหรับประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อุรังคธาตุ 

            นอกจากภูพระบาทจะมีความสัมพันธ์กับคัมภีร์อุรังคธาตุแล้ว ผู้คนในท้องถิ่นยังได้นำเอาตำนานพื้นบ้าน หรือนิทานพื้นเมืองเรื่อง “อุสา - บารส” มาตั้งชื่อ และเล่าถึงสถานที่ต่างๆ บนภูพระบาทอย่างน่าสนใจด้วยเหตุนี้จึงพบว่า โบราณสถานต่างๆ บนภูพระบาทล้วนมีชื่อเรียกตามจินตนาการจากนิทานเรื่อง “อุสา - บารส” เป็นส่วนใหญ่ อาทิ หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา คอกม้าท้าวบารส 
             อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทมีลักษณะที่แตกต่างจากอุทยานประวัติศาสตร์แห่งอื่นๆ ของกรมศิลปากรที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะนอกจากจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีแล้ว ยังมีความสำคัญทางด้านนิเวศวิทยา เนื่องจากเป็นที่ตั้งของวนอุทยานภูพระบาทบัวบก ของกรมป่าไม้ ซึ่งมีพืชพรรณทั้งไม้ดอกและไม้ใบขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาล่าสุด

นิทานพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้าน อุษา-บารส เป็นนิทานที่ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเอามาตั้งชื่อโบราณสถานที่ต่างๆ บนภูพระบาท การเที่ยวชมโบราณสถานบนภูพระบาทจึงควรต้...